
เรากล่าวธรรมเป็นเครื่องละความพอใจในกาม และโทมนัส ทั้งสองอย่าง เป็นเครื่องบรรเทาความง่วงเหงา เป็นเครื่อง ห้ามความรำคาญ บริสุทธิ์ดีเพราะอุเบกขาและสติ มีความตรึกถึงธรรมแล่นไปในเบื้องหน้า ว่าเป็นธรรมเครื่องพ้นที่ ควรรู้ทั่วถึงสำหรับทำลายอวิชชา ฯ
โลกมีความเพลิดเพลินประกอบไว้ ความตรึกไปต่างๆ เป็นเครื่องพิจารณา (เป็นเครื่องสัญจร) ของโลกนั้น เพราะ ละตัณหาได้เด็ดขาด ท่านจึงกล่าวว่า นิพพาน ฯ
เมื่อบุคคลไม่เพลิดเพลินเวทนา ทั้งภายในและภายนอก ระลึกอย่างนี้เที่ยวไปอยู่ วิญญาณจึงจะดับ ฯ
ท่านจงเป็นผู้มีสติทุกเมื่อ พิจารณาเห็นโลกโดย ความเป็นของว่างเปล่าเถิด จงถอนความตามเห็นว่าเป็นตัวตน เสียแล้ว พึงเป็นผู้ข้ามพ้นมัจจุราชได้ด้วยอาการอย่างนี้ บุคคลผู้พิจารณาเห็นโลกอยู่อย่างนี้ มัจจุราชจึงจะไม่เห็น ฯ
ท่านจงรู้เถิดว่า อวิชชาชื่อว่าธรรมเป็นศีรษะ วิชชาประกอบ ด้วยศรัทธา สติ สมาธิ ฉันทะ และวิริยะ ชื่อว่าเป็นธรรมเครื่องให้ศีรษะตกไป
สติเป็นเครื่องกั้นกระแสในโลก เรากล่าวสติว่า เป็นเครื่องกั้นกระแสทั้งหลาย กระแสเหล่านั้นอันบัณฑิต ย่อมปิดได้ด้วยปัญญา ฯ
นาม และรูปย่อมดับไปไม่มีส่วนเหลือ ณ ที่ใด สติและปัญญานี้ ย่อมดับไป ณ ที่นั้นเพราะความดับแห่งวิญญาณ ฯ
ภิกษุเห็นโทษในกามทั้งหลายแล้วประพฤติพรหมจรรย์ มี ตัณหาปราศไปแล้ว มีสติทุกเมื่อ พิจารณาเห็นธรรมแล้ว ดับกิเลสได้แล้ว ชื่อว่าผู้ยินดีในโลกนี้ ความหวั่นไหวทั้งหลายย่อมไม่มีแก่ภิกษุนั้น ภิกษุนั้นรู้ซึ่งส่วนทั้งสองแล้ว ไม่ติดอยู่ในส่วนท่ามกลางด้วยปัญญา เรากล่าวสรรเสริญ ภิกษุนั้นว่าเป็นมหาบุรุษ ภิกษุนั้นล่วงตัณหาเครื่องร้อยรัดใน โลกนี้เสียได้ ฯ
สัตว์ทั้งหลายผู้เกิดเป็นมนุษย์เหล่านั้น ย่อม มุ่งหวัง ย่อมชมเชย ย่อมปรารถนา ย่อมบูชา ย่อมรำพัน ถึงกาม ก็เพราะอาศัยลาภ เรากล่าวว่า สัตว์เหล่านั้นประกอบ การบูชา ยังเป็นคนกำหนัดยินดีในภพ ไม่ข้ามพ้นชาติและชรา ไปได้ ฯ
ผู้ใดไม่มีความหวั่นไหว (ดิ้นรน) ในโลก ไหนๆ เพราะได้พิจารณาเห็นธรรมที่ยิ่งและหย่อนในโลก ผู้นั้นสงบแล้ว ไม่มีความประพฤติชั่วอันจะทำให้มัวหมอง ดุจควันไฟ ไม่มีกิเลสอันกระทบจิต หาความ(ปรารถนา) หวังมิได้ เรากล่าวว่า ผู้นั้นข้ามพ้นชาติและชราไปได้ แล้ว ฯ
ท่านได้ถามเราถึงเหตุเป็นแดนเกิดแห่งทุกข์ เราจะบอกเหตุนั้นแก่ท่านตามที่รู้ ความทุกข์เหล่าใดเหล่าหนึ่งในโลกเป็นอันมาก ย่อมเกิดเพราะอุปธิเป็นเหตุ ผู้ใดไม่รู้แจ้งย่อมกระทำ อุปธิ ผู้นั้นเป็นคนเขลา ย่อมเข้าถึงทุกข์บ่อยๆ เพราะ ฉะนั้น เมื่อบุคคลมารู้ชัด เห็นชาติว่าเป็นเหตุเกิดแห่งทุกข์ ไม่พึงกระทำอุปธิ ฯ
ท่านรู้ชัดซึ่งส่วนอย่างใดอย่างหนึ่งในส่วนเบื้อง บน (คืออนาคต) ในส่วนเบื้องต่ำ (คืออดีต) และแม้ใน ส่วนเบื้องขวางสถานกลาง (คือปัจจุบัน) จงบรรเทาความเพลิดเพลินและความยึดมั่นในส่วนเหล่านั้นเสีย วิญญาณ (ของท่าน) จะไม่พึงตั้งอยู่ในภพ ภิกษุผู้มีธรรมเป็นเครื่องอยู่ อย่างนี้ มีสติ ไม่ประมาท ได้รู้แจ้งแล้วเที่ยวไปอยู่ ละความถือมั่นว่าของเราได้แล้ว พึงละทุกข์ คือ ชาติ ชรา โสกะ และปริเทวะในอัตภาพนี้เสีย ฯ
ท่านพึงรู้ผู้ใดว่าเป็นพราหมณ์ผู้ถึงเวท ไม่มีกิเลสเครื่องกังวล ไม่ติดข้องอยู่ในกามภพ ผู้นั้นแลข้ามโอฆะนี้ได้แน่แล้ว ผู้นั้นข้ามถึงฝั่งแล้ว เป็นผู้ไม่มีตะปู คือ กิเลส ไม่มีความสงสัย นรชนนั้นรู้แจ้งแล้วแล เป็นผู้ถึงเวทในศาสนานี้ สละ ธรรมเป็นเครื่องข้องนี้ในภพน้อยและภพใหญ่ (ในภพและ มิใช่ภพ) เสียได้แล้ว
เป็นผู้มีตัณหาปราศไปแล้ว ไม่มี กิเลสอันกระทบจิต หาความหวังมิได้ เรากล่าวว่าผู้นั้นข้าม ชาติและชราได้แล้ว ฯ
ท่านจงมีปัญญารักษาตน มีสติกระทำความเพียร ในศาสนานี้เถิด ท่านจงฟังเสียงแต่สำนักของเรานี้แล้ว พึง ศึกษาธรรมเป็นเครื่องดับกิเลสของตนเถิด ฯ
เราจักไม่อาจเพื่อจะปลดเปลื้องใครๆ ผู้ยังมี ความสงสัยในโลกให้พ้นไปได้ ก็ท่านรู้ทั่วถึงธรรมอัน ประเสริฐอยู่ จะข้ามโอฆะนี้ได้ด้วยอาการอย่างนี้ ฯ
เราจักแสดงธรรมเครื่องระงับกิเลสแก่ท่าน ใน ธรรมที่เราได้เห็นแล้วเป็นธรรมประจักษ์แก่ตน ที่บุคคลได้รู้ แจ้งแล้วเป็นผู้มีสติ พึงดำเนินข้ามตัณหาอันซ่านไปในอารมณ์ ต่างๆ ในโลกเสียได้ ฯ
ท่านจงเป็นผู้มีสติ เพ่งสนใจอากิญจัญญายตนสมาบัติ อาศัยอารมณ์ ว่า ไม่มี ดังนี้แล้วข้ามห้วงน้ำคือกิเลสเสียเถิด ท่านจงละกามทั้งหลายเสีย เป็นผู้เว้นจากความสงสัย เห็นธรรมเป็นที่สิ้น ไปแห่งตัณหาให้แจ่มแจ้งทั้งกลางวันกลางคืนเถิด ฯ
ดูกรอุปสีวะ ผู้ใดปราศจากความกำหนัดยินดีในกามทั้งปวง ละสมาบัติอื่นเสีย อาศัยอากิญจัญญายตนสมาบัติ น้อมใจ ลงในสัญญาวิโมกข์เป็นอย่างยิ่ง ผู้นั้นเป็นผู้ไม่หวั่นไหวพึงตั้ง อยู่ในอากิญจัญญายตนพรหมโลกนั้น ฯ